อุปกรณ์หนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบ IoT คือ รีเลย์ (Relay)
รีเลย์ เป็นสวิทช์อิเล็ทรอนิกส์ที่ภายในมีอุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแม่เหล็ก เพื่อใช้ในการดึงดูดหน้าสัมผัสของคอนแทคให้เปลี่ยนสภาวะ เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกป้อนให้กับขดลวด จะทำให้หน้าสัมผัสของสวิทช์อิเล็กทรอนิกส์ปิดหรือเปิด เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านหรือหยุด เหมือนการกดสวิทช์ไฟฟ้าทั่วไป เราจึงสามารถนำรีเลย์ไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมวงจรต่าง ๆ ในงานอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมากมาย

รีเลย์ ประกอบด้วย
- ส่วนของขดลวด (Coil) เหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าให้แกนโลหะไปทำให้หน้าสัมผัสต่อกัน ทำงานโดยการรับแรงดันจากภายนอกต่อคร่อมที่ขดลวดเหนี่ยวนำนี้ เมื่อขดลวดได้รับแรงดัน(ค่าแรงดันที่รีเลย์ต้องการขึ้นกับชนิดและรุ่นตามที่ผู้ผลิตกำหนด) จะเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้แกนโลหะด้านในไปกระทุ้งให้แผ่นหน้าสัมผัสต่อกัน
- ส่วนของหน้าสัมผัส (Contact) ทำหน้าที่เหมือนสวิตช์จ่ายกระแสไฟให้กับอุปกรณ์ที่ต้องการนั่นเอง
รีเลย์มีจุดต่อมาตรฐาน 3 จุด ดังนี้
- จุดต่อปกติปิด หรือ Normal Close (NC) หมายถึงขดลวดเหนี่ยวนำหน้าสัมผัสจะติดกันขณะที่ยังไม่ได้จ่ายไฟให้กับรีเลย์ เรามักต่อจุดนี้กับอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้ทำงานตลอดเวลา เช่น ตู้อบฟักไข่ที่ต้องให้ความอบอุ่นในช่วงเวลาหนึ่ง
- จุดต่อปกติเปิด หรือ Normal Open (NO) หมายถึงขดลวดเหนี่ยวนำหน้าสัมผัสจะไม่ติดกันขณะที่ยังไม่ได้จ่ายไฟให้กับรีเลย์ เรามักต่อจุดนี้เข้ากับอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการควบคุมการเปิดปิด เช่น ไฟสนามหน้าบ้านเมื่อเวลามืดค่ำ
- จุดต่อร่วม หรือ Common (C) หมายถึงจุดร่วมที่ต่อมาจากแหล่งจ่ายไฟ

ในระบบ IoT นิยมนำรีเลย์มาใช้ในการเปิดปิดไฟ เปิดปิดน้ำ (ใช้รีเลย์ไปควบคุมโซลีนอยด์สำหรับการเปิดปิดน้ำอีกที)
การที่รีเลย์สามารถควบคุมไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 3-220 โวลท์ (ขึ้นกับรีเลย์แต่ละรุ่น/ยี่ห้อ) ใช้ได้ทั้งไฟกระแสตรงหรือกระแสสลับ จึงสามารถนำไปควบคุมอุปกรณ์ IoT ได้มากมาย
รายละเอียดเกี่ยวกับรีเลย์มีอีกมากมาย ไว้มีเรื่องราวหรือข้อมูลเพิ่มเติมจะนำมาเขียนต่อครับ